เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 เวลา 09.30 – 10.30 น. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ประชุมหารือแนวทางการขยายผลรางวัลเลิศรัฐ ร่วมกับจังหวัดลำพูน ผ่านการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อถอดบทเรียนและหารือการขยายผลงานที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนในระดับดี ประจำปี 2562 ในผลงานการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนแบบมีส่วนร่วมจังหวัดลำพูน มีหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ได้แก่ จังหวัดลำพูน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น โดย รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) กล่าวเปิดการประชุมและกล่าววัตถุประสงค์ในการจัดทำแนวทางการขยายผลงาน และผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน (นายสันติธร ยิ้มละมัย) ได้กล่าวถึงนโยบายและแนวทางดำเนินการในการจัดการขยะของจังหวัดลำพูน หลังจากได้นำเสนอแนวทางการขยายผลงานการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนแบบมีส่วนร่วม จังหวัดลำพูน โดยท้องถิ่นจังหวัดลำพูน (นายรุ่งโรจน์ สุนทร) และหารือในประเด็นต่าง ๆ จากสำนักงาน ก.พ.ร. และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดการขยายผลสำเร็จและเกิดประโยชน์แก่ประชาชน โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
1. จังหวัดลำพูนมีการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนจริงจังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน โดยการวิเคราะห์และดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ แผนปฏิบัติประเทศไทยไร้ถังขยะ ตามแนวทางประชารัฐ และแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด”
2. ในปี 2560 จัดทำแผนปฏิบัติการประเทศไทยไร้ถังขยะ ตามแนวทางประชารัฐและเริ่มโครงการคัดแยกขยะเปียกในครัวเรือน ในปี 2561 จัดทำโครงการลำพูนเมืองสะอาดปราศจากโฟม (No Foam) ทั้งจังหวัด โดยจะประกาศเป็นจังหวัดปลอดภาชนะโฟม (เป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย)
3. ในปี 2562 ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนในระดับดี ผลงานการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนแบบมีส่วนร่วม จังหวัดลำพูน จังหวัดจึงได้จัดทำโครงการคนลำพูนร่วมใจ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ลดรับ ลดให้ และลดใช้ถุงพลาสติก และหลอดพลาสติกหูหิ้ว ต่อยอดผลงานที่ได้รับรางวัล และโครงการหลัก 3 โครงการหลักและเพิ่มกิจกรรย่อยประกอบด้วย 1) โครงการลำพูนเมืองน่าเฮือน บ้านเฮือน น่าอยู่ 2) กองทุนขยะเพื่อสวัสดิการอย่างน้อย 1 อปท. กองทุน 3) นโยบาย ผู้นำต้องทำก่อน 4) ขยายโมเดลศูนย์คัดแยกขยะของศูนย์ราชการจังหวัดลำพูน ไปยังส่วนราชการที่ตั้งอยู่นอกศูนย์ราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง
4. กลยุทธ์ในการดำเนินการได้แก่ 1) ผู้ว่าราชการจังหวัด มีข้อสั่งการให้หน่วยงานรับผิดชอบติดตามผลการดำเนินงานในประเด็นการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดลำพูน ให้มีการขับเคลื่อนตามแผนฯ อย่างจริงจัง 2) จัดทำแผนแก้ไขปัญหาขยะในระยะสั้นในการแก้ไขปัญหาขยะภายในครัวเรือนโดยต้นแบบภายในจังหวัด โดยมีการทำคำสั่งคณะทำงานลงไปนิเทศงานด้านการบริหารจัดการขยะ นำโดยท้องถิ่นจังหวัดลำพูน โดยใช้หลัก 3Rs (ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่) ให้กับเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่ง จนครอบคลุม ทั้ง 57 อปท. ภายใต้“โครงการคัดแยกขยะระยะสั้น” ของจังหวัดลำพูน 3) จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันลดและคัดแยกขยะจากต้นทาง ระหว่างจังหวัดลำพูนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกใดทำครบทุกครัวเรือนในพื้นที่แล้วก็จะประกาศเป็นตำบลปลอดขยะเปียก เมื่อครบทุกตำบลในอำเภอแล้วอำเภอก็จะประกาศเป็นอำเภอปลอดขยะเปียกครบแล้ว จังหวัดจึงประกาศเป็นจังหวัดปลอดขยะเปียก 4) ส่งเสริมนวัตกรรมการจัดการขยะโดยดำเนินการร่วมกับเอกชน เช่น เครื่องอัดขยะพลาสติกเป็นก้อน และบริษัทกรีนไลน์จะเป็นผู้รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 2 บาท เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง โดยชาวบ้านจะนำรายได้ไปพัฒนาหมู่บ้านและจัดสวัสดิการแก่สมาชิก เป็นต้น รวมถึงการลดขยะด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชัน ECO LIFE ที่ต้องการรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจสิ่งแวดล้อม โดยการสะสมแต้มแลกของรางวัล ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) จัดทำโดยบริษัทคิดคิด ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชนโดยมีร้านค้าที่เข้าร่วมสนับสนุนในกิจกรรมลดขยะ จำนวน 13 ร้านค้า
5. ปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จที่สำคัญเป็นลำดับแรก คือ ผู้บริหารระดับสูงของจังหวัดให้ความสำคัญซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ได้มีข้อสั่งการให้มีการขับเคลื่อนตามแผนฯ อย่างจริงจังและนโยบายผู้นำต้องทำก่อน และการเน้นให้มีการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเริ่มจากชุมชนใดชุมชนหนึ่งก่อนแล้วค่อยขยายไปสู่ชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่ต่อไป รณรงค์ให้ทุกครัวเรือนมีการคัดแยกขยะและนำเงินจากการ ขายขยะกลับมาเป็นสวัสดิการชุมชน และให้มีข้อตกลงร่วมกันของชุมชน เช่น การมีธรรมนูญหมู่บ้านเป็นต้น และจังหวัดลำพูนยังมีต้นทุนที่ดี คือ มีหมู่บ้าน/ชุมชนปลอดขยะได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ โดยได้รับถ้วยพระราชทาน 3 แห่ง ได้แก่ 1) บ้านป่าเส้า หมู่ที่ 9 ตำบลอุโมงค์ (ทต.อุโมงค์) อำเภอเมืองลำพูน ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับประเทศขนาดใหญ่ ปี 25552) บ้านน้ำพุ หมู่ที่ 7 ตำบลป่าสัก (ทต.ป่าสัก) อำเภอเมืองลำพูน ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับประเทศ ขนาดกลาง ปี 2557 3) บ้านป่าบุก หมู่ที่ 10 ตำบลแม่แรง (ทต.แม่แรง) อำเภอป่าซาง ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับประเทศ ขนาดเล็ก ปี 2557
ทั้งนี้ ในการจัดทำต้นแบบแนวปฏิบัติที่ดี (best practice) ในปี 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. จะดำเนินการเพื่อให้ได้ต้นแบบจำนวน 6 ต้นแบบ และสำนักงาน ก.พ.ร. จะได้จัดประชุมเพื่อให้ได้แนวทาง เพื่อให้หน่วยงานหรือพื้นที่อื่น ๆ นำไปใช้เป็นโมเดลต้นแบบและพัฒนาอย่างต่อเนื่องและขยายผลในวงกว้างต่อไป