ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปัญหาอุปสรรคในการจัดบริการสาธารณะ กิจกรรมสาธารณะและหาแนวทางในการแก้ไขเรื่องการถ่ายโอนภารกิจด้านการพัฒนาแหล่งน้ำให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่รองเลขาธิการ (นางนันทนา ธรรมสโรช) ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมาธิการ เมื่อวันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 10.00 – 12.00 น. ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (สผ.) 502 อาคารรัฐสภา
คณะกรรมาธิการได้พิจารณาการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติกำหนดกรอบและเป้าหมายการจัดบริการสาธารณะและการกระจายอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. …. ดังนี้
ประเด็นการอภิปราย
1. รายละเอียดเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติกำหนดกรอบและเป้าหมายการจัดทำบริการสาธารณะและการกระจายอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. …. (ชี้แจงโดยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา)
– ร่าง พ.รบ. ฉบับนี้ ได้พิจารณาแล้วเสร็จเมื่อปลาย ก.พ. 64
– หลักการ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเปลี่ยนกลไกการกระจายอำนาจใหม่ ให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 250 โดยให้ อปท. มีหน้าที่จัดบริการสาธารณะ การให้บริการประชาชนในพื้นที่ และขีดความสามารถของแต่ละ อปท. โดยแบ่งบริการสาธารณะ และการจัดบริการสาธารณะ เป็น 3 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 บริการสาธารณะที่เป็นหน้าที่โดยเฉพาะของ อปท. โดยที่หน่วยงานของรัฐไม่พึงกระทำ โดยต้องกำหนดเป็น “กฎกระทรวง”
ประเภทที่ 2 บริการสาธารณะที่ อปท. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำ โดยหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมมือ ส่งเสริม สนับสนุน โดยกำหนดเป็นกฎกระทรวงให้ชัดเจนว่า อปท. ใด จะให้จัดบริการสาธารณะใด โดยคำนึงถึงความพร้อมของแต่ละ อปท.
ประเภทที่ 3 บริการสาธารณะที่ อปท. อาจจัดทำคู่ขนานกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องการตรวจสอบการดำเนินงาน เนื่องจากมีบริการสาธารณะบางประเภท เช่น การศึกษา การสาธารณสุข ที่ทั้งหน่วยงานรัฐและ อปท. อาจจัดซ้ำซ้อนกัน
– กำหนดระยะเวลาในการถ่ายโอนให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี หลังจากออกกฎกระทรวง
– กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) เป็นส่วนราชการระดับกรม ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
– กลไกของ คกกกระจายอำนาจยังเป็นไตรภาคี เช่นเดิม แต่ปรับองค์ประกอบในบางกระทรวงออก เนื่องจากไม่ได้ใช้เป็นแผนกระจายอำนาจเช่นเดิม
– หมวด 5 ความร่วมมือของหน่วยงานของรัฐในการจัดบริการสาธารณะ
– หมวด 6 การจัดสรรรายได้ อปท. เป็นการกำหนดเพื่อประกันสิทธิให้แก่ อปท. โดยต้องส่งเสริมให้ อปท. จัดเก็บรายได้ในรูปแบบใหม่ๆได้ แต่ระหว่างจัดไม่เสร็จสิ้นรัฐต้องจัดสรรเงินอุดหนุนให้ โดยไม่กำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงินอุดหนุน
2. ประเด็นข้อสังเกตคณะกรรมาธิการ
– กลไกการออกเป็นกฎกระทรวง เพื่อกำหนดงานบริการสาธารณะที่จะถ่ายโอนไปยังท้องถิ่น
– แหล่งรายได้ของท้องถิ่น ไม่ได้มีการกำหนดแหล่งที่มาของรายได้อื่นให้แก่ท้องถิ่น และไม่ได้กำหนดวงเงินงบประมาณที่จะจัดสรรให้ท้องถิ่น (เดิมกำหนดให้จัดสรรร้อยละ 35)
– การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการกระจายอำนาจ
– ควรมีประมวลกฎหมายจัดตั้งท้องถิ่นทั้งหมด เพื่อทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจที่ชัดเจนมากขึ้น
กลุ่มงานการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ