เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมสัมมนาโครงการวิเคราะห์และปรับกระบวนการทำงาน (Re-Process) และจัดทำระบบต้นแบบ (Prototype) เพื่อการบริการภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอการปรับกระบวนการทำงาน (Re-Process) และพัฒนาระบบต้นแบบ (Prototype) เพื่อรับคำขอหรือให้บริการในรูปแบบดิจิทัลได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน (24/7) ในรูปแบบ Web Service ให้หน่วยงานภาครัฐอื่นนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนางานบริการของหน่วยงาน ซึ่งมีผู้แทนส่วนราชการเข้าร่วมจำนวน จาก 56 หน่วยงาน
– นายชัยณรงค์ โชไชย ที่ปรึกษาการขับเคลื่อนระบบราชการด้านนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้กล่าวเปิดการประชุมสัมมนาฯ ซึ่งได้กล่าวถึงความสำคัญของการปรับตัวของภาครัฐและการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนางานบริการภาครัฐ โดยเริ่มจากการวิเคราะห์และปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการโดยลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น รวมทั้งทบทวนกฏหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้รองรับการทำงานที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนพัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของบุคลากร อันจะนำไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงความสะดวก ง่ายต่อผู้ใช้งาน และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นสำคัญ
– นางวณิสรา สุขวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาระบบราชการ ได้นำเสนอภาพรวมโครงการ โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีงานบริการในโครงการทั้งหมดจำนวน 20 งานบริการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 งานบริการออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มที่ 2 งานบริการขึ้นทะเบียนหรือรับจดทะเบียน และกลุ่มที่ 3 งานอื่น ๆ ได้แก่ งานบริการเกี่ยวกับระบบรับข้อมูลเพื่อจัดทำรายงาน (e-Filing & e-Report) ระบบทะเบียนรายชื่อ ระบบรับยื่นความประสงค์ขออบรม จองสิทธิ์การเข้าอบรมและรองรับการเรียนรู้ออนไลน์ ระบบจองสิทธิ์การเข้าพื้นที่ (e-Ticket) และระบบขอเอกสารรับรอง (e-Stamp) โดยการประชุมสัมมนาฯ ครั้งนี้เป็นการขยายผลการศึกษาและพัฒนางานบริการในกลุ่มที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยงานบริการ ดังนี้
- งานบริการที่ 1 ระบบการรับรองมาตรฐาน GAP ประมง
- งานบริการที่ 2 ระบบการรับรองมาตรฐาน GAP พืช
- งานบริการที่ 3 การยื่นรับการจัดที่ดินแทนที่เกษตรกรผู้ได้รับการจัดให้เข้าทำประโยชน์ซึ่งสละสิทธิ
- งานบริการที่ 4 การขอความยินยอมหรือใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน
- งานบริการที่ 5 ระบบ e-Service การบริหารจัดการสัตว์ป่าควบคุมในการรับแจ้งการครอบครอง การขออนุญาตเพาะพันธุ์ และขออนุญาตค้า
- งานบริการที่ 6 การขอรับใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์
- งานบริการที่ 7 การขอรับใบอนุญาตให้ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์
จากนั้น ผศ.ดร.ธเนศ พัฒนธาดาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบระบบงาน และทีมที่ปรึกษาได้นำเสนอแนวทางและแผนการดำเนินงานในการปรับกระบวนการทำงาน (Re-Process) เพื่อรับคำขอหรือให้บริการในรูปแบบดิจิทัลได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน (24/7) ในแต่ละกลุ่มความพร้อมในรูปแบบ Web Service และระบบต้นแบบ (Prototype) ของหน่วยงานภาครัฐนำร่องในงานกลุ่มที่ 1 โดยได้มีการวิเคราะห์กระบวนงาน ปัญหาอุปสรรค สภาพการทำงานในปัจจุบัน ตลอดจนความคุ้มค่าในการพัฒนาระบบ เพื่อนำมาออกแบบระบบร่วมกับหน่วยงานให้สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตรงตามความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด ทั้งนี้ ระบบต้นแบบที่จัดทำขึ้นจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชน และผู้ประกอบการให้สามารถยื่นคำขอ/รับบริการงานภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลได้ด้วยตนเองได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน (24/7) ส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าจัดทำเอกสาร อีกทั้งประหยัดเวลาติดต่อขอรับบริการ ตลอดจนสามารถเรียกใช้ข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็ว ลดความเสี่ยงจากการชำรุดหรือสูญหายของเอกสารได้เนื่องจากข้อมูลได้ถูกจัดเก็บไว้ในระบบ
นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการสาธิต และให้ผู้เข้าร่วมได้ทดลองใช้งานระบบต้นแบบที่ได้พัฒนาในโครงการอีกด้วย
ทั้งนี้ จะมีการประชุมสัมมนาฯ สำหรับงานบริการกลุ่มที่ 2 ต่อไปในวันพรุ่งนี้ (25 เมษายน 2566)