การศึกษากรอบการประเมินความคุ้มค่าดำเนินการโดยศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (SMC) ซึ่งได้ศึกษาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าขององค์การมหาชนที่เชื่อมโยงกับกรอบการประเมินในปัจจุบันของสำนักงาน ก.พ.ร. และจัดทำแนวทางการประเมินที่สะท้อนถึงโอกาสในการพัฒนา การประเมินที่มีความครอบคลุม และสร้างมาตรฐานเดียวกัน โดยได้นำเสนอ (ร่าง) แนวทางการประเมินความคุ้มค่าขององค์การมหาชน การจัดประเภทกลุ่มองค์การมหาชนออกเป็น 3 กลุ่ม ภายใต้องค์ประกอบ 4 ด้าน ได้แก่
??องค์ประกอบที่ 1 การดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ ใช้เครื่องมือ missing link เพื่อดูความเชื่อมโยงและประเมินนโยบายของภาครัฐ โดยให้เกิดความสอดคล้องเชื่อมโยงและถ่ายทอดสู่เป้าหมายผลผลิตและผลลัพธ์ได้อย่างแม่นยำและครอบคลุม
??องค์ประกอบที่ 2 การเชื่อมโยงระหว่างองค์กร โดยใช้ FTE และการประเมินรัฐเท็กซัสเป็นเครื่องมือหาความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน พร้อมกับหาทางแก้ไข
??องค์ประกอบที่ 3 คุณค่าขององค์กร เพื่อประเมินประสิทธิภาพโดยเปรียบเทียบต้นทุนและผลประโยชน์หรือมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม โดยการประเมินมูลค่าเพิ่มทางสังคมมีความซับซ้อนมากและไม่ได้มีเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งอาจใช้เครื่องมือต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการประเมินคุณค่าขององค์กร ได้แก่ EVM, SROI, Theory of Change, Revealed Preference & Stated Preference และ TEV
??องค์ประกอบที่ 4 อนาคตและความยั่งยืนขององค์กร เพื่อพิจารณาจุดแข็งและศักยภาพสำหรับการพัฒนาและเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน โดยมีแนวทางประเมินจำแนกตามการแบ่งกลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 และ 2 ใช้เครื่องมือ SWOT และกลุ่มที่ 3 ใช้เครื่องมือ BCG Metrix
ผู้แทนองค์การมหาชนจำนวนมากมีความสนใจที่จะเป็นหน่วยงานนำร่องประเมินความคุ้มค่าดังกล่าว พร้อมทั้งได้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่อคิดเห็น (ร่าง) แนวทางการประเมินความคุ้มค่าขององค์การมหาชนเพิ่มเติม สรุปได้ดังนี้
1. การแบ่งกลุ่มองค์การมหาชนสำหรับประเมินความคุ้มค่าตามกลุ่มลูกค้าหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เห็นว่าบางหน่วยงานมีกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมหลายรูปแบบซึ่งต้องคิดค่าเฉลี่ยของทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และบางหน่วยงานได้เห็นต่างจากที่ปรึกษาจัดกลุ่มไว้ตามกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม รวมทั้งการกำหนดเพียง 3 กลุ่ม อาจจะแคบเกินไป ควรกระจายกลุ่มอุตสาหกรรมมากกว่านี้ได้
2. เกณฑ์การประเมินความคุ้มค่า เห็นว่าอาจไม่จำเป็นต้องเป็นมาตรฐานแต่ควรปรับให้เหมาะสมแต่ละองค์กร นอกจากนี้ ควรนำเกณฑ์ UNSDG และนำ feedback จาก stakeholder มาพิจารณาปรับใช้ในการประเมินดังกล่าว ทั้งนี้ การประเมินมูลค่าทางสังคมอาจใช้วิธีการประเมินเชิงบรรยาย ซึ่งบางหน่วยงานไม่สามารรถประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจได้
3. ผลจากการประเมินความคุ้มค่า ควรเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ โดยเห็นว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ควรมีบทบาทในการเป็นหน่วยงานกลางหารือกับสำนักงบประมาณในเรื่องดังกล่าว เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานขององค์การมหาชนด้วย
ภายหลังจากการประชุมรับฟังความคิดเห็น ทางสำนักงาน ก.พ.ร. และ SMC จะนำความเห็นในที่ประชุมไปปรับเกณฑ์การประเมินความคุ้มค่าให้เหมาะสมของแต่ละกลุ่มองค์การมหาชนต่อไป
กลุ่มงานการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ