เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. นำโดยประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์มหาชน) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มูลนิธิธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
ในช่วงเช้า ลงพื้นที่ปฏิบัติการ ณ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาและรับฟังปัญหา พูดคุยกับหน่วยงานและชาวบ้านในพื้นที่ เกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดไฟไหม้ในพื้นที่ป่า รวมทั้งระดมความคิดเห็นในการหาแนวทางการบริหารจัดการ การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน การปลดล็อกประเด็นปัญหาสำคัญ การทำงานข้ามหน่วยงาน และข้ามพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย ภายใต้ พรบ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 64 และ 65
ในช่วงบ่าย การประชุมถอดบทเรียนและประชุมเชิงปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ประกอบด้วย หน่วยงานภาคีเครือข่ายและหน่วยงานในพื้นที่ จำนวนทั้งสิ้น 23 หน่วยงาน เช่น สำนักงานงบประมาณ เขตที่ 10 สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ สถิติจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานจังหวัดสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เกษตรและสหกรณ์จังหวัด พลังงานจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1) การจัดทำระบบฐานข้อมูล (Geo-Informatic database) เพื่อการเปิดเผย ป้องกัน และแก้ไขปัญหา PM 2.5 ร่วมกัน โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาและแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด
2) การบริหารจัดการไฟ ประกอบด้วย ไฟที่มีการบริหารจัดการ ไฟที่ไม่มีการบริหารจัดการ การมีส่วนร่วมจากชุมชน/ประชาชน ระบบการบริหารจัดการเชื้อเพลิง
3) การแก้ไขปัญหาไฟในพื้นที่การเกษตร โดยการปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตร และมีกลไกตลาดรองรับ โดยมีการสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
4) การจัดทำตัวชี้วัดระดับจังหวัดและพื้นที่ เช่น จำนวนฐานข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยเพื่อการแก้ไขปัญหา PM 2.5 จำนวนวันที่มีฝุ่นละออง PM 2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐาน ในช่วงเดือนมกราคม ถึง เมษายน ลดลง สัดส่วนพื้นที่ที่มีการลักลอบเผาเทียบกับพื้นที่ที่มีการเผาอย่างถูกต้อง สัดส่วนของพื้นที่การเกษตรที่ไม่มีการเผาเทียบกับสัดส่วนพื้นที่การเกษตรทั้งหมด สัดส่วนของพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซากลดลง จำนวนครั้งการเข้ารับบริการในแผนกฉุกเฉินด้วย จำนวนโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังชนิดเฉียบพลัน ในช่วงการเฝ้าระวังสถานการณ์มลพิษทางอากาศของแต่ละพื้นที่ (มกราคม – เมษายน) ลดลง สัดส่วนพื้นที่การเกษตรที่เปลี่ยนจากแปลงที่เผาเป็นแปลงที่ไม่เผาเพิ่มขึ้น ร้อยละของชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในระบบการบริหารจัดการไฟ (FireD) เพิ่มขึ้น จำนวน (ตัน) ที่เพิ่มขึ้นของการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่าและลดการเผา
NEXT STEP : การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่ปฏิบัติการ ในลักษณะ “Government Innovation Lab” เพื่อสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 และขยายผลไปยังพื้นที่อื่นต่อไป