
เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2561 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดกิจกรรม “เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือสื่อมวลชน” ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐที่มีประสิทธิภาพให้สาธารณชนได้รับทราบ โดยมีนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. พร้อมด้วยนางเยาวลักษณ์ ตั้งบุญญะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ พาคณะสื่อมวลชนจากแขนงต่างๆ เดินทางศึกษาดูงาน โครงการการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐประจำปี พ.ศ.2561 สาขาบริการภาครัฐภาครัฐ ประเภทการบริการที่เป็นเลิศ ระดับดีเด่น จากสำนักงาน ก.พ.ร. ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.สุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บรรยายถึงความสำเร็จของโครงการฯ ว่าเป็นการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ที่อาศัยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และการสร้างแนวคิดแบบนวัตกรรมในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งได้ลงพื้นที่ ดูโครงการขุดดินแลกน้ำ ณ หนองสาธารณสองห้อง ตำบลปากกราน อำเภอพระนครศรีอยุธยาด้วย
ทั้งนี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาประสบปัญหาน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมาก เพื่อแก้ไขปัญหาจึงดำเนินการ โครงการการบริหารจัดการน้ำฯ โดยมีแผนบริหารจัดการน้ำ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และภัยแล้ง โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนวางแผนและดำเนินการใน 3 มิติ คือ 1) keep กักเก็บน้ำให้ทุกครัวเรือนและทุกหน่วยเก็บน้ำหรือมีน้ำสำรองเพื่อลดภาระของรัฐ เช่น ทำโครงการ คนเมืองมีถัง คนบ้านมีโอ่ง ให้หน่วยงานต่างๆมีถังเก็บน้ำสำรองไว้ใช้เมื่อฉุกเฉิน พัฒนาแหล่งเก็บน้ำ (แก้มลิง) รองรับน้ำให้ได้ใช้อุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยจัดการแหล่งกักเก็บน้ำครอบคลุมทุกตำบลในจังหวัด ภายใต้โครงการ ขุดดินแลกน้ำ โดยไม่ใช้งบประมาณในการดำเนินงาน 2) prevent ป้องกัน เพื่อป้องกันเขตเมือง ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พื้นที่ลุ่มต่ำ ได้ดำเนินการ เช่น ขุดลอกท่องระบายน้ำ เลื่อนเวลาเพาะปลูกให้เร็วขึ้น ให้เก็บเกี่ยวได้ทันก่อนน้ำหลากเข้าที่นา ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น 3) drain ระบายน้ำ เช่น วิเคราะห์จุดเสี่ยงและวางเครื่องสูบน้ำให้เพียงพอ ทำโครงการสร้างคลองระบายน้ำหลาก โดยจัดเวทีประชาคมเพื่อขอเวนคืนพื้นที่ในการจัดทำโครงการ ทั้งนี้ การดำเนินการส่งผลให้สามารถบริหารจัดการเก็บกักน้ำในพื้นที่ได้อย่างเป็นระบบ มีน้ำสำรองใช้ในหน้าแล้ง ลดภาระภาครัฐในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง-น้ำท่วม รวมทั้งป้องกันน้ำท่วมในเขตอุตสาหกรรม สร้างความมั่นใจให้กับภาคอุตสาหกรรม ไม่ย้ายฐานการผลิต และลดความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ ลดปัญหาอุทกภัยในเขตภาคกลางด้วย
กลุ่มวิเทศสัมพันธ์และการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ