ข่าวสาร ก.พ.ร.

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 ธันวาคม 2561 เรื่อง การมอบอำนาจการแบ่งส่วนราชการภายในกรม

19 ธ.ค. 2561
0

คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน ก.พ.ร. คือการมอบอำนาจการแบ่งส่วนราชการภายในกรม

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้แจ้งมติคณะรัฐมนตรีเรื่องดังกล่าวให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทราบ ตามหนังสือ สลค. ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/39715 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2561 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 ลงมติว่า

1. เห็นชอบในหลักการการมอบอำนาจการแบ่งส่วนราชการภายในกรม ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ทั้งนี้ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

2. เห็นชอบให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 (เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ) ในกรณีการขอจัดตั้งส่วนราชการระดับต่ำกว่ากรม โดยไม่เพิ่มจำนวนกอง หรือจำนวนหน่วยงานของราชการส่วนกลางที่ตั้งในภูมิภาค หรือจำนวนหน่วยงานในต่างประเทศ ทั้งที่ปรากฏในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ หรือตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และยังคงจำนวนกองหรือหน่วยงานในภาพรวมเท่าที่มีอยู่เดิมของส่วนราชการ ให้ดำเนินการตามหลักการเงื่อนไข และขั้นตอนที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ส่วนการกำหนดตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่ต่ำกว่าระดับกรม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ. กำหนด

3. ให้สำนักงาน ก.พ.ร. แก้ไขหนังสือสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ นร 1200/ว 13 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2550 เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ ให้สอดคล้องกับหลักการมอบอำนาจการแบ่งส่วนราชการภายในกรมดังกล่าวต่อไป

4. ให้สำนักงาน ก.พ. นำข้อเสนอแนะของ ก.พ.ร. และความเห็นของกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดตำแหน่ง และการประเมินคุณภาพของตำแหน่งตามหลักเกณฑ์การประเมินค่างานของตำแหน่ง เสนอต่อ ก.พ. เพื่อพิจารณาทบทวนต่อไป

5. ให้กระทรวงการต่างประเทศแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารราชการในต่างประเทศ พ.ศ. 2552 เกี่ยวกับการจัดตั้งหรือรวมหน่วยงานในต่างประเทศ กรณีไม่เพิ่มจำนวนหน่วยงานในต่างประเทศ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ

สำหรับสาระสำคัญของการมอบอำนาจการแบ่งส่วนราชการภายในกรม ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ มีดังนี้

1. หลักการมอบอำนาจการแบ่งส่วนราชการภายในกรม

ก.พ.ร. จะมอบอำนาจให้ส่วนราชการพิจารณาจัดโครงสร้างส่วนราชการระดับต่ำกว่ากรมได้เองภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

1) เป็นการจัดโครงสร้าง (rearrange) เพื่อให้การดำเนินภารกิจของส่วนราชการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่เพิ่มจำนวนกองในภาพรวมของส่วนราชการ เช่น การยุบเลิก/ยุบรวมกองเดิม และจัดตั้งกองใหม่ เพื่อรับผิดชอบภารกิจใหม่ ๆ ตามยุทธศาสตร์ นโยบาย และภารกิจที่มีความสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ ทั้งนี้ จำนวนกองที่ปรากฏในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการยังคงเท่าเดิม สำหรับภารกิจอื่น ๆ ประกอบด้วย งานยุทธศาสตร์และแผนงาน งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร งานตรวจราชการ งานบริหารทรัพยากรบุคคล งานบริหารการคลัง งานกฎหมาย งานการต่างประเทศ งานพัฒนาบุคลากร และงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.ร. กำหนด

2) เป็นการจัดหน่วยงานของราชการส่วนกลางในภูมิภาคใหม่ โดยไม่เพิ่มจำนวนหน่วยงาน เช่น การจัดพื้นที่จังหวัดที่อยู่ในความรับผิดชอบใหม่ รวมถึงการย้ายสถานที่ตั้งของสำนักงานจากจังหวัดหนึ่งไปยังอีกจังหวัดหนึ่ง ตามการจัดพื้นที่จังหวัดที่อยู่ในความรับผิดชอบใหม่

3) เป็นการจัดหน่วยงานในต่างประเทศใหม่ โดยไม่เพิ่มจำนวนหน่วยงาน เช่น การย้ายสถานที่ตั้งของสำนักงานจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศประเภทเดียวกัน หรือจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่งภายในประเทศเดียวกัน ทั้งนี้ สำนักงานดังกล่าวต้องเป็นสำนักงานตามกฎหมาย/ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ทั้งนี้ ก.พ.ร. มีข้อเสนอแนะต่อ ก.พ. เพื่อพิจารณาด้วยว่า ก.พ. อาจพิจารณาให้ตำแหน่งผู้อำนวยการกองของกองเดิมที่ปรับปรุงบทบาทภารกิจคงตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับสูง และให้ตำแหน่งผู้อำนวยการของกองที่จัดตั้งใหม่เป็นตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับสูงโดยไม่ต้องมีการประเมินคุณภาพงานของตำแหน่งด้วยโปรแกรมการประเมินค่างาน (Jetro) แต่ให้คณะกรรมการกำหนดตำแหน่งระดับสูงของกระทรวงพิจารณาประเมินคุณภาพงานของตำแหน่งโดยการเทียบเคียงความยุ่งยากซับซ้อนของงาน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ. กำหนด

สำหรับการแบ่งส่วนราชการภายในกรม กรณีเพิ่มจำนวนกองในภาพรวมของส่วนราชการ เช่น การจัดตั้งกอง การจัดตั้งหน่วยงานส่วนกลางในภูมิภาค การจัดตั้งส่วนราชการส่วนภูมิภาค การจัดตั้งหน่วยงานในต่างประเทศ ขึ้นใหม่ เป็นต้น ให้ส่วนราชการดำเนินการตามขั้นตอนปกติ

2. การขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีและการแก้ไขระเบียบและหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง

เพื่อให้การดำเนินการตามหลักการมอบอำนาจการแบ่งส่วนราชการภายในกรมมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเป็นไปตามเจตนารมณ์ จะต้องขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและแก้ไขระเบียบและหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1) ขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฏาคม 2550 เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ กรณีการขอจัดตั้งส่วนราชการระดับต่ำกว่ากรม โดยไม่เพิ่มจำนวนกองในภาพรวมของส่วนราชการ ให้ดำเนินการตามขั้นตอนการจัดตั้งส่วนราชการระดับต่ำกว่ากรมกรณีการมอบอำนาจการแบ่งส่วนราชการภายในกรม และให้สำนักงาน ก.พ.ร. แก้ไขหนังสือที่ นร 1200/ว 13 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2550

2) ให้สำนักงาน ก.พ. แก้ไขหนังสือที่ นร 1008/ว 2 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดตำแหน่ง เกี่ยวกับการประเมินคุณภาพงานของตำแหน่งตามหลักเกณฑ์การประเมินค่างานของตำแหน่ง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการมอบอำนาจการแบ่งส่วนราชการภายในกรมในส่วนที่ได้เสนอแนะต่อ ก.พ. ไว้แล้วข้างต้น

3) ให้กระทรวงการต่างประเทศแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารราชการในต่างประเทศ พ.ศ. 2552 เกี่ยวกับการจัดตั้งหรือรวมหน่วยงานในต่างประเทศ กรณีไม่เพิ่มจำนวนหน่วยงาน เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการมอบอำนาจการแบ่งส่วนราชการภายในกรม

ข้อมูลจาก หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และหนังสือสำนักงาน ก.พ.ร.
นฤมล (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มวิเทศสัมพันธ์และการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุ้กกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ปุ่มตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์และประเมินผลการใช้งาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ช่วยให้ ก.พ.ร. ทราบถึงการปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้งานในการใช้บริการเว็บไซต์ของ ก.พ.ร. รวมถึงหน้าเพจหรือพื้นที่ใดของเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยม ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลด้านอื่น ๆ ก.พ.ร. ยังใช้ข้อมูลนี้เพื่อการปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์ และเพื่อเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้งานมากขึ้น ถึงแม้ว่า ข้อมูลที่คุกกี้นี้เก็บรวบรวมจะเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ และนำมาใช้วิเคราะห์ทางสถิติเท่านั้น การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ ก.พ.ร. ไม่สามารถทราบปริมาณผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ และไม่สามารถประเมินคุณภาพการให้บริการได้

  • คุกกี้เพื่อการโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้เป็นคุกกี้ที่เกิดจากการเชื่อมโยงเว็บไซต์ของบุคคลที่สาม ซึ่งเก็บข้อมูลการเข้าใช้งานและเว็บไซต์ที่ท่านได้เข้าเยี่ยมชม เพื่อนำเสนอสินค้าหรือบริการบนเว็บไซต์อื่นที่ไม่ใช่เว็บไซต์ของ ก.พ.ร. ทั้งนี้ หากท่านปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะไม่ส่งผลต่อการใช้งานเว็บไซต์ของ ก.พ.ร. แต่จะส่งผลให้การนำเสนอสินค้าหรือบริการบนเว็บไซต์อื่น ๆ ไม่สอดคล้องกับความสนใจของท่าน

บันทึกการตั้งค่า