เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. นำโดยรองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) และคณะ ลงพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อติดตามและสำรวจความพร้อมในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ในหน่วยงานส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
1 การดำเนินการของหน่วยงานระดับท้องถิ่น
การลงพื้นที่ตรวจติดตามเทศบาลนครเชียงใหม่ และองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า
– มีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ อย่างครบถ้วน เช่น การปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชน การไม่เรียกสำเนาเอกสาร การนำระบบ e-Service มาให้บริการ การกระจายจุดให้บริการออกเป็น 4 แขวง ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในกรณีของเทศบาลนครเชียงใหม่
– ความพร้อมในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ มีอีเมลกลางที่ออกโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และไลน์เป็นช่องทางการในติดต่อ รับเรื่องต่าง ๆ จากประชาชน
– ข้อสังเกตและสิ่งที่ต้องการได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลาง
- การพัฒนาระบบกลางในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากส่วนกลางจะช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบของแต่ละท้องถิ่นและสามารถให้บริการได้ในมาตรฐานเดียวกัน เช่น การชำระภาษีที่ดินออนไลน์ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปใช้ หรือกรณีกรมโยธาธิการอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
- งานบริการบางเรื่องที่ใช้เอกสารจำนวนมาก ไม่เหมาะกับการใช้ช่องทางอีเมลเป็นช่องทางในการรับเรื่อง
- บางงานบริการที่มีการรับเรื่องส่งต่อซึ่งต้องขออนุญาต 2 หน่วยงาน ควรให้มีหน่วยงานเจ้าภาพ เช่น การขออนุญาตใช้เสียงในที่สาธารณะ การขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านโดยเฉพาะกรณีบุคคลที่เพิ่งได้รับสัญชาติไทย ซึ่งท้องถิ่นมีหน้าที่รับเรื่องและส่งให้ที่ทำการปกครองอำเภอเพื่อพิจารณาและส่งเรื่องกลับให้ท้องถิ่นดำเนินการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านต่อไป
2 การดำเนินการของราชการบริหารส่วนภูมิภาค
การลงพื้นที่ตรวจติดตามสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่และสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า มีความเข้าใจและมีการเตรียมความพร้อมต่อการดำเนินการตามพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับเป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่การจองคิวขอรับบริการ การรับชำระค่าธรรมเนียม การออกเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และมีลายเซ็นต์อิเล็กทรอนิกส์รองรับ
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ
- ควรเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐเพื่อลดภาระในการขอเอกสารจากประชาชนซึ่งจะทำให้การบริการอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
- ความเข้าใจของหน่วยงานของรัฐด้วยกันเองที่ต้องการได้รับเอกสารกระดาษที่ปรากฏลายเซ็นต์ของผู้มีอำนาจลงนามเพื่อความเชื่อมั่นในการดำเนินการ