เมื่อวันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2566 นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานการประชุม คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 1/2566 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีคณะทำงานจากภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) และสำนักงาน ก.ล.ต. เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติฯ ที่ สพร. ได้จัดทำขึ้น โดยใช้แนวปฏิบัติกระบวนการดิจิทัลภาครัฐ 8 กระบวนการ สำหรับหน่วยงานที่มีความพร้อมทางเทคโนโลยีที่หลากหลาย ทั้งในระดับเริ่มต้น ระดับมาตรฐาน และระดับสูง ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่า
- การกำหนดวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามขั้นตอนต่าง ๆ ในแนวปฏิบัติกระบวนการดิจิทัลภาครัฐที่ สพร. จัดทำนั้น ควรมีคู่มือและแนวปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน รวมทั้งแนวทางหรือวิธีการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหรือการดำเนินการต่าง ๆ ตลอดจนการเชื่อมโยงข้อมูลหรือระบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้รับบริการ ยกตัวอย่างเช่น
1.1 การยืนยันตัวตนที่เหมาะสมกับระดับความน่าเชื่อถือของงานบริการ ซึ่งอาจต้องมีต้นแบบการดำเนินการ โดย สพร. มีศักยภาพทางเทคโนโลยีที่ให้คำแนะนำได้
1.2 การจัดทำเอกสารในรูปแบบ PDF จะต้องตรวจสอบได้ว่าเป็นต้นฉบับจริงหรือไม่ โดยเฉพาะเอกสารสำคัญที่จะต้องมีการเข้ารหัสเพิ่มเติม
1.3 การส่งคำขอหรือเอกสารหลักฐานผ่านอีเมล ซึ่งหากมีเอกสารหลักฐานจำนวนมากจะทำให้ไม่สะดวกกับผู้รับบริการ จึงควรพัฒนาให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานต้นทาง เพื่อลดจำนวนเอกสารหลักฐานที่ผู้รับบริการต้องจัดเตรียม - การกำหนดให้ส่วนกลางออกแบบระบบสำหรับปฏิบัติงานให้กับหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้หน่วยปฏิบัติสามารถดำเนินการได้อย่างชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น ระบบการปฏิบัติงานด้านการคลัง e-LAAS ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพัฒนาขึ้น จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติได้ในรูปแบบมาตรฐานเดียวกัน เป็นต้น นอกจากการออกแบบระบบโดยส่วนกลางที่สนับสนุนการปฏิบัติให้กับหน่วยงานในพื้นที่ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เนื่องจาก อปท. มีข้อจำกัดในการพัฒนาระบบบริการของตนเอง แล้วนั้น ควรพิจารณาถึงการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐที่มีระบบหรือแพลตฟอร์มที่พร้อมให้บริการมาช่วยสนับสนุนได้ เช่น Traffy Fondue ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของ สวทช. ที่มีระบบ Dashboard และ Tracking ที่จะช่วยตรวจสอบการดำเนินการ รวมทั้งติดตามสถานะขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว
- การเสนอวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในระยะแรกให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 240 วัน สามารถจำแนกเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการออกแบบในภาพรวมที่แสดงถึงกรอบความคิด วิธีการ และเครื่องมือสนับสนุนวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด แม้ว่าจะยังไม่ได้ปฏิบัติในระยะแรกก็ตาม เช่น การเชื่อมโยงระบบระหว่างกัน (Application Programming Interface: API) เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันในแต่ละแพลตฟอร์ม และส่วนที่สองเป็นการออกแบบวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ขั้นพื้นฐาน เพื่อให้หน่วยงานที่มีความพร้อมขั้นต้นสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ในระยะแรก พร้อมทั้งมีคู่มือหรือแนวทางปฏิบัติสำหรับการใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น การจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับการใช้งาน Application Line ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นต้น
นอกจากนี้คณะทำงานฯ มีความเห็นเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อนการดำเนินการตามพระราชบัญญัติในระยะแรกนี้มีประเด็นที่ควรคำนึง 2 เรื่อง ได้แก่ (1) การดำเนินการทำได้โดยง่าย ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก ทุกหน่วยงานสามารถปฏิบัติได้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย และ (2) คำนึงถึงความสะดวกของประชาชนในทางปฏิบัติ ซึ่งสามารถกำหนดกรอบระยะเวลาติดตามและประเมินการดำเนินการตามวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในระยะแรกภายใน 2 ปี โดยหากผลการประเมินพบว่าหน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่มีศักยภาพและความพร้อมสำหรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในระดับที่สูงขึ้น ก็สามารถเสนอวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในระยะต่อไปก่อนระยะเวลา 2 ปีได้