เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จัดประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ให้กับหน่วยงานส่วนภูมิภาค และท้องถิ่นจากจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น
ในช่วงเช้า เป็นการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นใน 3 เรื่อง คือ
1. แนวทางการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทิศทางการพัฒนาประสิทธิภาพการบริการภาครัฐในระยะต่อไป โดย นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร.
2. ระบบข้อมูลการติดต่อราชการ www.info.go.th ที่หน่วยงานต้องดำเนินการ โดย ดร.อุรัชฎา เกตุพรหม ผู้อำนวยการฝ่ายมาตรฐานดิจิทัลภาครัฐ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)
3. สาระสำคัญและการเตรียมความพร้อมการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ โดย นายปณตภร จงธีโชติ นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการพิเศษ นางสาวใจใส วงส์พิเชษฐ นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และนางสาวนิชา สาทรกิจ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล สำนักงาน ก.พ.ร.
สำหรับช่วงบ่าย เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ โดย ดร.อุรัชฎาฯ
ในช่วงท้ายของการประชุมสัมมนาได้ให้ผู้เข้าร่วมประชุมประเมินสถานะการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ และพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง พบว่า หน่วยงานในภูมิภาคส่วนใหญ่มีความพร้อมและมีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ และมีการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ ในเรื่องการปรับลดระยะเวลาการอนุญาตมากที่สุด
นอกจากนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนในพื้นที่ต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ โดยมีหน่วยงานร่วมให้ความเห็น อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น สมาคมการค้าโลจิสติกส์และซัพพลายเชนอีสาน บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด ซึ่งในภาพรวมเห็นด้วยกับหลักการของการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงประสิทธิภาพภาครัฐเพิ่มเติมในหลายประเด็นของการเป็น Smart City เช่น
- ควรมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจทั้งด้านข้อมูล การบริหารจัดการ กฎหมายที่เป็นอุปสรรค เพื่อขับเคลื่อนให้เป็น Smart City ท่าเรือบก และ wellness ซึ่งเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)
- เนื่องจากงานบริการของ อย. ไม่ได้อนุมัติอนุญาตที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้งหมด ดังนั้น ส่วนกลางควรมีการกระจายอำนาจอนุมัติอนุญาตในพื้นที่ เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์จังหวัด
- ข้อมูล (data) เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาบริหารจัดการเมือง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดกลับมาทำงานที่บ้านเกิด และไม่เกิดผู้สูงอายุอาศัยอยู่เพียงลำพัง
- ควรถอด model ของขอนแก่น smart city เป็นต้นแบบให้แก่เมืองหรือจังหวัดอื่นพัฒนาให้สอดคล้องกับแต่ละบริบทในท้องที่นั้น
- ควรพัฒนาเศรษฐกิจแบบคิดนอกกรอบ เพื่อแก้ไขหรือยกเว้นกฎหมายการให้บริการที่เป็นข้อจำกัดนั้น
ท่านที่สนใจยังสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่
โรงแรมนิวซีซั่นสแควร์ หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันที่ 20 ม.ค. 66
โรงแรมอัศวิน กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 27 ม.ค. 66