เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. นำโดยผู้อำนวยการกองนวัตกรรมบริการภาครัฐ (นายธนศักดิ์ มังกโรทัย) และผู้อำนวยการกองพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (นางสาวนิชา สาทรกิจ) และคณะ ลงพื้นที่ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาเพื่อติดตามและสำรวจความพร้อมในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ในหน่วยงานส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งมีความพร้อมในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ อาทิ การเผยแพร่คู่มือผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงาน การให้บริการแบบ e-service การไม่เรียกสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้โดยการเชื่อมกับกรมการปกครอง การกำหนดและประกาศช่องอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อราชการ มีที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และมีประเด็นอื่นที่น่าสนใจจากการลงพื้นที่ดังนี้
1. การดำเนินการของราชการส่วนภูมิภาค
- สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา สาขาหาดใหญ่ มีระบบให้บริการแบบ Fully digital อาทิ การจดทะเบียนนิติบุคคล ผ่านระบบกลางของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า การขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ผ่านระบบกลางของกรมการค้าต่างประเทศ อีกทั้งยังมีการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ในช่องทางอื่น ๆ เช่น การขอหนังสือรับรองสำเนาเอกสารผ่าน OpenChat
- สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสงขลา สาขาหาดใหญ่ มีการใช้ระบบกลางของสำนักงานประกันสังคม อาทิ ระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ระบบชำระเงินสมทบประกันสังคม (e-Payment) ระบบแจ้งการประสบอันตรายเนื่องจากการทํางาน (e-compensate) ระบบการยื่นแบบค่าจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-wage) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตน
2. การดำเนินการของราชการส่วนท้องถิ่น
- เทศบาลนครหาดใหญ่ มีการพัฒนาบริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เช่น การเพิ่มช่องทางการชำระภาษีป้าย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผ่าน qr code ฟรีค่าธรรมเนียม ระบบติดตามการขออนุญาต ก่อสร้าง/ดัดแปลง/รื้อถอนอาคาร การรับเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง และส่งต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทางไลน์เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
- องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม มีให้บริการแบบ e-service ใน 3 งาน ได้แก่ การชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การรับชำระภาษีป้าย และการชำระค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอย และได้นำแอปพลิเคชัน PODD หรือ “ผ่อดีดี” มาช่วยเฝ้าระวังสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมในชุมชนและสามารถแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนได้รวดเร็ว
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ
- การประกาศช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อราชการที่มีหลายช่องทางจำเป็นต้องมอบผู้รับผิดชอบในแต่ละช่องทางให้ชัดเจน
- ในบางกรณีที่ประชาชนมาติดต่อขอรับบริการ ณ สถานที่ทำการ เนื่องจากต้องการติดต่อสอบถามหรือได้รับการบริการให้คำแนะนำ/ตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่โดยตรง ซึ่งสะดวกรวดเร็วกว่าการศึกษาเพื่อดำเนินการเองทางอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น ในการพัฒนาบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ต้องออกแบบให้ใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้บริการมากขึ้น
- การทบทวนคู่มือสำหรับประชาชนให้สอดคล้องกับกฎหมายที่มีการแก้ไขใหม่เพื่อให้เป็นปัจจุบัน