เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2566 ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารราชการ ในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น (นายไมตรี อินทุสุต) และ ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) อนุกรรมการฯ (รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ และนายสุนิตย์ เชรษฐา) เจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ลงพื้นที่เพื่อเข้าศึกษาดูงานศูนย์รับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี พล.ต. ศราวุฒิ เกิดหลำ ที่ปรึกษา กอ.รมน. ภาค 3 , พ.อ. นิรันดร์ พึ่งโต รอง ผอ.ศนป.กอ.รมน.ภาค 3 และ พ.ต.ปัญญา แย้มธูป หน.ฝงป.ศนป.กอ.รมน.ภาค 3 และ ผศ. ประพัฒน์ เชื้อไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้การต้อนรับและบรรยายแนวทางการแก้ไขปัญหา PM 2.5 โดยมีผู้แทนชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอพร้าว มาร่วมรับฟังเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย
สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
1. ศูนย์รับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ มุ่งเน้นการเสริมสร้างรายได้ และเพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกร ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยแปลงเศษวัสดุเหลือใช้เป็นพลังงานชีวมวล เพื่อลดปัญหาการเกิดมลพิษทางอากาศในพื้นที่ ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร โดยดึงภาคเอกชนมารับซื้อ และพัฒนาเป็นศูนย์บริหารจัดการในพื้นที่ ซึ่งเป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาทางด้านมลพิษในพื้นที่ภาคเหนืออย่างยั่งยืน
2. การแก้ไขปัญหา PM 2.5 ดำเนินการภายใต้กรอบแนวคิด “ป่าเปียก ลดเชื้อเพลิง สร้างรายได้” มุ่งเน้นการดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) สร้างป่าเปียก โดยนำน้ำขึ้นไปกระจายในพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซาก เช่น สร้างฝายชะลอน้ำ ปลูกป่า ปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ ปลูกพืชพลังงาน ฯลฯ 2) ลดเชื้อเพลิงที่ต้นทาง โดยนำเชื้อเพลิงจากป่าและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาจำหน่ายให้ศูนย์รับซื้อฯ ซึ่งจะแปรรูปเป็น อาหารสัตว์, ผลิตกล่องอาหารลดโลกร้อน, ผลิตไม้สับ (Wood Chips), ผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง เพื่อส่งเข้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะและโรงไฟฟ้าชุมชน 3) สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้โรงงานไฟฟ้า
3. แนวคิดการนำเอาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์แทนการเผา เริ่มต้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เกิดเป็น “เชียงใหม่โมเดล” ที่มี กอ.รมน. เป็นศูนย์กลางในการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เช่น ธอส. กฟผ. สำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงพลังงาน ทสจ. SCG และจังหวัดต่างๆ ใกล้เคียง เช่น กำแพงเพชร ลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน น่าน แม่ฮ่องสอน ฯลฯ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน
4. การสร้างป่าเปียก โดยการปลูกป่าพืชเศรษฐกิจ และพืชพลังงาน จะทำให้ประชาชนมีรายได้ จาก 5 ทาง คือ 1) รายได้จากการปลูกต้นไม้ (เฉลี่ย 300 – 500 บาท/วัน) 2) รายได้จากการดูแลรักษาต้นไม้ช่วงยังไม่มีผลผลิต (พอเลี้ยงชีพ) 3) รายได้ประจำปีจากค่าคาร์บอนเครดิต 4) รายได้จากการขายซาก หรือผลิตผล 5) รายได้จากการแปรรูป หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์
5. สิ่งที่ผู้แทนชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อ. พร้าว จ.เชียงใหม่ ต้องการได้รับการสนับสนุน คือ ระบบการบริหารจัดการศูนย์ ทั้งฐานข้อมูลรายแปลงของเกษตรกร การจัดการด้านการเงิน และการจัดทำสถิติ
สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานภาคีเครือข่ายความร่วมมือ จะนำองค์ความรู้และข้อเสนอแนะที่ได้จากการลงพื้นที่ไปดำเนินการเสริมสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (OG&MP) ในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่ต่อไป