เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.30 น. อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2566 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยนายไมตรี อินทุสุต เป็นประธาน สรุปการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
- การพิจารณาเรื่อง การขับเคลื่อนข้อเสนอแนวทางการจัดทำปฏิทินการทำงานเพื่อให้มีการบูรณาการแผนและงบประมาณของราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ โดยที่ประชุมให้ความเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. นำแนวทางตามข้อเสนอไปดำเนินการในพื้นที่จังหวัดนำร่อง 2-3 จังหวัด ในการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปี พ.ศ. 2568 โดยให้กระทรวงมหาดไทยคัดเลือกพื้นที่ดำเนินการ ซึ่งในเบื้องต้นผู้แทนกระทรวงมหาดไทยได้เสนอชื่อจังหวัดที่จะดำเนินการ ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดลำพูนหรือจังหวัดเชียงใหม่ ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดสระบุรี หรือจังหวัดจันทบุรี และภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดระนองหรือจังหวัดนราธิวาส ทั้งนี้ จะต้องจัดทำรายละเอียดและแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อนการลงพื้นที่
- การพิจารณาเรื่อง การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ โดยที่ประชุมให้ความเห็นชอบให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดนำร่องในการศึกษาการพัฒนาระบบฐานข้อมูลฯ โดยมีจังหวัดสระบุรี เป็นจังหวัดเปรียบเทียบ เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีแก่จังหวัดอื่นต่อไป
- รับทราบความก้าวหน้าการขับเคลื่อนข้อเสนอแนวทางการบริหารสินทรัพย์ที่เกิดจากงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด และแนวทางการดำเนินการตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี และให้ฝ่ายเลขานุการฯ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยนำประเด็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ดำเนินการคู่ขนานกับการนำเรื่องดังกล่าวเสนอผ่านกลไก ก.น.บ. และคณะรัฐมนตรีต่อไป
- รับทราบความก้าวหน้าการแก้ไขข้อจำกัดของการบริหารราชการในจังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมีประเด็นที่เป็นข้อจำกัด 75 เรื่อง และได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว จำนวน 67 เรื่อง อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม 8 เรื่อง ซึ่งจะได้รายงานผลการแก้ไขข้อจำกัดในประเด็นที่เหลือในครั้งต่อไป
- รับทราบแนวทางการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญ (Agenda) ของจังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูงและการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งกำหนดดำเนินการใน 4 Agenda ได้แก่ 1) การท่องเที่ยวโดยชุมชน ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2) การพัฒนาศักยภาพด้านการเกษตรด้วยโมเดล BCG ในจังหวัดสุพรรณบุรี 3) การบริหารจัดการขยะมูลฝอย ในจังหวัดพิษณุโลก และ 4) การแก้ไขปัญหาน้ำเสียในจังหวัดพิจิตร และเห็นควรให้เพิ่มประเด็นนโยบายด้านมิติการให้บริการ อีก 1 ประเด็น และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ รายงานความก้าวหน้าให้ อ.ก.พ.ร.ฯ ทราบเป็นระยะ
- รับทราบการรายงานผลการลงพื้นที่เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในจังหวัดลำปางและจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับ อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม