เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 กรมควบคุมมลพิษจัดการประชุมหารือเพื่อพัฒนาแนวทางการใช้แอปพลิเคชัน Burn Check และ FireD ณ ห้องประชุม 301 กรมควบคุมมลพิษ และการประชุมผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี) ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ และ นายพรศักดิ์ ภู่อิ่ม) รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบ ววน. ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์) เจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กรมป่าไม้ และผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Burn Check และ FireD
สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
- การพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบการบริหารจัดการเชื้อเพลิงของระบบไฟดี (FireD) และBurn Check เพื่อบูรณาการจุดแข็งที่น่าสนใจและหาแนวทางการพัฒนา พร้อมเชื่อมระบบบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้มีความสมบูรณ์ สามารถพัฒนาไปสู่ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่จะทำให้เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลในการบริหารจัดการเรื่อง PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต
- การขับเคลื่อนการเสริมสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (OG&MP) ในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ มีแผนการปฏิบัติการ (Action Plan) ดังนี้
2.1 การคัดเลือกพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เป็นพื้นที่ปฏิบัติการผ่านการดำเนินการในรูปแบบ Sandbox หรือ Government Lab โดยดำเนินการใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) ทำสิ่งเดิมที่ดีและมีอยู่แล้ว 2) ทำสิ่งที่ต่างไปจากเดิม 3) ทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำ โดยมีแนวคิดในการขับเคลื่อน คือ ชุมชนเป็นแกนหลัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแกนเสริม และมีกรมควบคุมมลพิษ กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ เป็นแกนหนุนเสริม เพื่อปรับเปลี่ยนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
2.2 การพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่ศูนย์ข้อมูลเปิด (Open Data Center) ในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 เพื่อยกระดับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ไปสู่ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geo – Information System)
2.3 การพัฒนาระบบการพยากรณ์ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 (Forecasting Model) โดยการจัดเก็บข้อมูล PM 2.5 ในอดีต ปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ในการพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคต
2.4 การขับเคลื่อนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action research) และถอดบทเรียน โดย สกสว. และนักวิจัย/สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพรวมของงานวิจัยที่มีอยู่แล้วและงานวิจัยที่ต้องเข้ามาเสริม อันจะก่อให้เกิดการบูรณาการหลากหลายมิติและเกิดความยั่งยืน
2.5 การจัดทำแผนการบริหารจัดการ PM 2.5 ทีมีการบูรณาการแผนงานและงบประมาณของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมอุทยานฯ ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหา PM 2.5
2.6 การพัฒนา ปรับปรุง ระบบบริหารจัดการไฟ (Fire Management) เช่น การจัดทำ Hotspot New Model การบูรณาการข้อมูลและการทำงานร่วมกันระหว่าง Application FireD และ Burn Check การบริหารระบบการไม่เผา (No – Burn Check) โดยการจัดการเชื้อเพลิงไปสู่การสร้างรายได้ สร้างคุณค่าให้เชื้อเพลิง ทดลองนำร่องลงทะเบียนการซื้อขายเชื้อเพลิง ตลาดคาร์บอน การตอบแทนคืนให้แก่ระบบนิเวศ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนระบบเกษตรเพื่อลดปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวบนพื้นที่สูง