สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้จัดงาน DIGITAL GOVERNANCE THAILAND 2023 ในธีม Happiness Creation “ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล” โดยในช่วงเช้ามีพิธีเปิดซึ่งได้มีการกล่าวถึงความสำคัญของดิจิทัลในปัจจุบันไว้อย่างน่าสนใจ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
เดินหน้าสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ ทำไมต้องชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล โดย ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์สถานการณ์หลังวิกฤติการณ์โควิด ชีวิตดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี ทั้งการเรียนผ่านออนไลน์ การสั่งอาหาร-ยาผ่านออนไลน์ คำถามคือ ดีพอหรือยัง ETDA ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ประจำปี 2566-2570 มีเป้าหมายสำคัญ คือ 30:30 หมายถึง การเพิ่มสัดส่วนมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจดิจิทัลต่อ GDP เป็น 30% และอันดับความสามารถของประเทศไทยในการแข่งขันทางดิจิทัล โดย IMD ไม่น้อยกว่าอันดับที่ 30 ภายในปี 2570 โดยจะเน้นไปที่ 2 กลุ่มเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ 1) SMEs เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก 2) ภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความแม่นยำ และลดต้นทุนให้กับภาคเอกชน สนับสนุนให้ SMEs และภาคเอกชนแข่งขันได้อย่างทัดเทียม แม้ว่าความสุขจะมาพร้อมกับความเสี่ยง แต่เราสามารถจัดการกับความเสี่ยงเพื่อมีความสุขได้ ซึ่งต้องตอบโจทย์สำคัญ คือ ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีได้หรือไม่ ถ้าได้ ได้อย่างไร และจะส่งผลอย่างไร หากสามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ก็จะเพิ่มแรงขับเคลื่อนให้กับประเทศทั้งในภาคเศรษฐกิจและสังคมได้
สร้างสุขเพื่อคนไทย ไปให้ไกลด้วยวิสัยทัศน์แห่งอนาคต โดย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโลกในห้วงเวลานี้ สิ่งที่จำเป็นคือต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง หน้าที่ของรัฐในการสร้าง Ecosystem ต้องทำอย่างไร มีสิ่งที่ต้องเข้าใจ 2 ประเด็น คือ
- ทำอย่างไรให้คนเชื่อมั่นในการใช้งานระบบดิจิทัล มีคำถามที่สำคัญที่ต้องตอบให้ได้ 3 ข้อ คือ (1) ใช้แล้วมีประโยชน์อย่างไร (2) แพงหรือไม่ (เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับ) และ (3) มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ซึ่งส่วนหลังนี้ ต้องบอกให้ทุกฝ่ายทราบและหาวิธีป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย
- ทำอย่างไรให้เกิด Ecosystem และเกิดการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐต้องปรับเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยต้องมีการปรับระบบการจัดซื้อจัดจ้างให้ถูกลงและเร็วขึ้น มีการใช้ Digital ID และมีการป้อวกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. …. เพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุมเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองประชาชนอย่างเร่งด่วนแล้ว
ยกระดับความพร้อมสู่อนาคตดิจิทัล โดย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ (ถ่ายทอดผ่านคลิป) ผลการจัดอับดับ IMD ต้องมองที่จุดแข็งของประเทศว่ามีจุดแข็งในด้านใด ซึ่งสิ่งที่จะเข้ามาช่วยก็คือการปรับเปลี่ยนภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ก็ต้องส่งเสริมให้นำดิจิทัลมาใช้ แต่ต้องมีการกำกับดูแลให้อยู่ภายใต้มาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้มุ่งหวังแค่นำมาใช้เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น แต่ต้องสามารถสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันของประเทศไทยให้ทัดเทียมประเทศอื่นด้วย
สำหรับช่วงบ่าย มีการเสวนาและบรรยายในหัวข้อที่หลากหลายทางด้านดิจิทัล ซึ่งนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ “ยกระดับบริการรัฐไทยเพื่อความสุขของประชาชน เมื่อพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ประกาศใช้” รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวเริ่มต้นถึงข้อจำกัดของประชาชนในการรับบริการจากภาครัฐ เช่น การแสดงตนหรือดำเนินการต่าง ๆ ณ หน่วยงาน หรือต่อหน้าเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย ทำให้เกิดความไม่สะดวกและเป็นภาระต่อประชาชน จึงเป็นที่มาของพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ที่ทำให้การขออนุญาตหรือการติดต่อใด ๆ สามารถทำได้โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งยกเว้นไว้ในกฎหมายเพียง 5 เรื่อง คือ การสมรส การหย่า การรับบุตรบุญธรรม การขอมีบัตรประจำตัวประชาชน และหนังสือเดินทาง ซึ่งหน่วยงานของรัฐจะต้องประกาศช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อราชการ เพื่อให้ประชาชนทราบว่าจะต้องหน่วยงานทางช่องทางใด
รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวเพิ่มเติมว่า หลายหน่วยงานได้ดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนแล้ว ยกตัวอย่างเช่น กรมการปกครอง ที่มีแอปพลิเคชัน D.DOPA ให้ประชาชนแสดงบัตรประจำตัวประชาชนทางดิจิทัล ซึ่งสามารถใช้แทนบัตรจริงในการขึ้นเครื่องบินได้ เป็นต้น นอกจากนี้สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้รวมกันจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่กฎหมายกำหนด โดยคำนึงถึงความพร้อมของหน่วยงาน ทั้งนี้ การพัฒนาระบบราชการในอนาคตมีความมุ่งหวังให้ประชาชนมีความพึงพอใจในคุณภาพการให้บริการของภาครัฐไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 รวมทั้งยกระดับขีดความสามารถของภาครัฐตามดัชนีสำคัญ เพื่อให้ภาครัฐมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ประชาชนได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ยังได้ร่วมจัดนิทรรศการ โดยได้นำงานบริการ e-Service 725 งานบริการ และพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มาเผยแพร่ พร้อมทั้งมีกิจกรรมให้ร่วมตอบคำถามเพื่อรับของรางวัลมากมาย