เมื่อวันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 13.30 น. สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมชี้แจงขั้นตอนและแนวทางการสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม (BOI) และนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ (CSR) ณ ห้องประชุม ก.พ.ร. ชั้น 5 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยมีนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. เป็นประธานการประชุม
ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) รองอธิบดีกรมป่าไม้ (นายบรรณรักษ์ เสริมทอง) รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (นายครองศักดิ์ สงรักษา) คณะทำงานพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. (นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์) อนุกรรมการฯ (รศ.ดร. สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์) ผู้แทนจากสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
หน่วยงานภาคเอกชน จำนวน 11 บริษัท ได้แก่ กลุ่มมิตรผล บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จํากัด บริษัท เบทาโกร จํากัด (มหาชน) บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จํากัด บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท จึงพัฒนา โฮลดิ้ง จํากัด บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท บีบีจีไอ จํากัด (มหาชน) บริษัท น้ำตาลพิษณุโลก จํากัด และบริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน)
สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
* วัตถุประสงค์การประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางการสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) โดยมุ่งเน้นไปที่การลดแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ในภาคป่าไม้และการเกษตร ผ่านการใช้มาตรการส่งเสริม การลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม (BOI) และนโยบาย CSR ขององค์กร
* หน่วยงานภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีดังนี้
– ปี พ.ศ. 2567 จำนวน 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จํากัด บริษัท เบทาโกร จํากัด (มหาชน) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จํากัด บริษัท น้ำตาลพิษณุโลก จํากัด และบริษัท อาปิโก ฟอร์จจิ้ง จำกัด (มหาชน) รวมมูลค่า 133.93 ล้านบาท
– ปี พ.ศ. 2568 ปัจจุบันมีภาคเอกชนแจ้งความประสงค์มาแล้ว จำนวน 6 บริษัท ได้แก่ กลุ่มมิตรผล บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จํากัด บริษัท เบทาโกร จํากัด (มหาชน) บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จํากัด บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท จึงพัฒนา โฮลดิ้ง จํากัด รวมมูลค่า 43.70 ล้านบาท (ข้อมูลจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมมาตรการฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม เนื่องจากบางบริษัทอยู่ระหว่างเสนอผู้บริหารพิจารณา)
* พื้นที่เป้าหมาย ประกอบด้วย 1) พื้นที่ 14 กลุ่มป่า ที่มีความเสี่ยง และจุดความร้อน (Hotspot) สูง 2) พื้นที่เสี่ยงในภาคเกษตรกรรม 3) พื้นที่ที่ภาคเอกชนมีความสนใจดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันภาคเอกชนได้มีการคัดเลือกพื้นที่ เช่น อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ 10 ป่าชุมชน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน สุพรรณบุรี สิงห์บุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ อำนาจเจริญ เลย
* การใช้นโยบาย CSR และมาตรการ BOI เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM 2.5 มีแนวทางดังนี้
– กรณีที่ 1: การใช้นโยบาย CSR ภาคเอกชนสามารถ (1) จัดซื้ออุปกรณ์/เครื่องมือต่าง ๆ (2) ปลูกป่า ปลูกต้นไม้ มอบให้กรมป่าไม้ หรือกรมอุทยานฯ (3) บริจาคเงิน ผ่านมูลนิธิฯ เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ/อุปกรณ์ให้แก่กรมป่าไม้ หรือกรมอุทยานฯ
– กรณีที่ 2: การใช้มาตรการ BOI ภาคเอกชนสามารถ (1) จัดซื้ออุปกรณ์/เครื่องมือต่าง ๆ ตามรายการที่ BOI ให้กรอบไว้ และมอบอุปกรณ์เครื่องมือให้กับองค์กรท้องถิ่น สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน สถาบันการศึกษา ซึ่งสามารถยกเว้นภาษีได้ 120% (2) กรณีจัดซื้ออุปกรณ์ เครื่องมือ นอกรายการที่ BOI ให้กรอบไว้ จะไม่สามารยกเว้นภาษีได้
* ขั้นตอนการขอรับการส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม
1) ตรวจสอบคุณสมบัติและประเภทกิจการซึ่งจะต้องเป็นผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจตามที่คณะกรรมการประกาศ ให้การส่งเสริม
2) ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อระบุพื้นที่เป้าหมาย กำหนดกิจกรรมที่สนับสนุน และระบุผู้รับการสนับสนุน
3) จัดทำข้อเสนอโครงการหรือแผนความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น และขอความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4) ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับ BOI
5) BOI พิจารณาอนุมัติและออกบัตรส่งเสริม
6) ดำเนินโครงการและรายงานผล โดยผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามแผนให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี
* ตัวอย่างรายการสนับสนุนที่เข้าข่ายการลงทุน ได้แก่ การก่อสร้างแนวกันไฟ ฝายชะลอน้ำ จุดเฝ้าระวังไฟป่า ระบบกระจายน้ำสร้างความชุ่มชื่น เครื่องจักรอุปกรณ์ เช่น รถตัดอ้อย โดรน เครื่องเป่าลม ชุดปฏิบัติงานดับไฟป่า เช่น วิทยุสื่อสาร เครื่องระบุตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS) รถดับเพลิง ถังฉีดน้ำแบบพ่นสะพาย เครื่องตัดหญ้าทำแนวกันไฟ การฝึกอบรมด้านการป้องกันและควบคุมไฟป่า เครื่องมือการแปรรูปวัสดุเชื้อเพลิงจากป่าและเศษวัสดุทางเกษตร เช่น เครื่องสับย่อยใบไม้ เครื่องอัดจานใบไม้พร้อมอุปกรณ์ขึ้นรูป เครื่องผสมปุ๋ยหมัก เครื่องอัดเม็ดปุ๋ย เครื่องร่อนดิน เป็นต้น
* Next Step
1) ประชุมผนึกกำลังครั้งสำคัญ รัฐ – เอกชน สนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ผ่านมาตรการ BOI และ CSR ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุม ก.พ.ร. ชั้น 5 สำนักงาน ก.พ.ร.
2) จัดงาน “รวมพลังรัฐ-เอกชน-ชุมชน แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5” ภายในเดือนมีนาคม 2568 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน