
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 Korea Research Initiatives at university of New South Wales Australia (KRI@UNSW) ร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. International Studies Center (ISC) Humanities Research Institute (HRI) Korea Foundation (KF) และ ASEAN Foundation Indonesia ได้จัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ หัวข้อ “2024 KACPE International Public Policy Symposium – Strengthening the Comprehensive Strategic Partnership between Korea and ASEAN for Shared Future Development” ณ ห้อง Grand Ballroom ชั้น 4 โรงแรม Radison Blu Plaza Bangkok
การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายดุสิต เมนะพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเปิดงาน และกล่าวต้อนรับโดยนางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการสำนักงาน ก.พ.ร. ดร. Seung – Ho Kwon ผู้อำนวยการบริหารจาก KRI@UNSW นาย Jang – keun Lee เอกอัคราชทูตเกาหลีประจำอาเซียน และนาย Hyun Soo Choi ผู้อำนวยการ Korea Foundation ณ กรุงจาการ์ต้า สาธารณรัฐอินโดนีเซีย อีกทั้งภายในงานยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า และลาวเข้าร่วมด้วยงานสัมมนาวิชาการนานาชาติในครั้งนี้ได้แบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ สรุปใจความสำคัญของแต่ละหัวข้อ ดังนี้
– หัวข้อที่ 1 “Key Issues for the Comprehensive Strategic Partnership between Korea and ASEAN” มีใจความสำคัญ ดังนี้
นอกจากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในทางการเมืองแล้ว หากต้องการให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความใกล้ชิดกันอย่างยั่งยืน ประเทศเกาหลีใต้และประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องยกระดับในเรื่องของเศรษฐกิจ นวัตกรรม เทคโนโลยี และ Softpower ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้สามารถสร้างขึ้นได้ผ่านความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านภาษาและวัฒนธรรมระหว่างเยาวชนหรือกรอบความตกลงในด้านต่าง ๆ อีกทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนเองก็ต้องพัฒนาทักษะทรัพยากรมนุษย์ในประเทศของตนให้มีความรู้และทักษะต่าง ๆ เพื่อที่จะสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงทีไม่ว่าจะเป็นในด้านของภาษา ทักษะทางด้านดิจิทัล และทักษะด้าน Soft Skill ต่าง ๆ
– หัวข้อที่ 2 “Collaboration of Educational Exchange in Higher Education between ASEAN and Korea” มีใจความสำคัญ ดังนี้
การยกระดับการศึกษาระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีใต้นั้นมีความท้าทายเป็นอย่างมาก หากต้องการให้ความสำเร็จเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจะต้องดำเนินการภายใต้ 4 หัวข้อหลัก คือ
1) การทำให้ทุกคนจากทุกภาคส่วนเข้าถึงระบบการศึกษาได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
2) การปรับหลักสูตรที่แตกต่างกันให้มีความสอดคล้องกันโดยการสร้างเครือข่ายและสื่อสารให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน
3) การประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างความร่วมมือที่แน่นแฟ้นระหว่างภาคการศึกษา ในประเทศสมาชิกอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีใต้ และควรที่จะต้องส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาหรือ Student Exchange Program ให้มีมากขึ้นเพื่อทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
4) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับภาคการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีใต้ จะต้องร่วมมือกันลดข้อจำกัดทางด้านการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่เยาวชนและประชาชน
– หัวข้อที่ 3 “Sharing Knowledge in the Area of Digital Transformation for National Development” มีใจความสำคัญ ดังนี้
เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงเพราะช่วยทำให้เศรษฐกิจทั้งภายในและระหว่างประเทศเติบโตและสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ทำให้คนในสังคมมีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งทำให้แต่ละประเทศสามารถแข่งขันในตลาดการค้าโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปัจจุบัน AI สามารถช่วยผ่อนแรงในด้านต่าง ๆ และทำหน้าที่แทนมนุษย์เพื่อทำให้เกิดผลิตภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามต้องตระหนักอยู่เสมอว่า AI สามารถเป็นบ่อเกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคมได้ ดังนั้น แต่ละประเทศโดยเฉพาะประเทศ CLMV ควรจะต้องออกนโยบายที่ป้องกันความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นในด้านความมั่นคงทางด้านการเมือง เสถียรภาพทางการแสดงความคิดเห็นของผู้คนในสังคมที่จะเกิดขึ้นหลังจากการนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำงานด้วย
– หัวข้อที่ 4 “Plenary Session” โดยวิทยากรได้อภิปรายร่วมกันว่า หากต้องการให้สาธารณรัฐเกาหลีและประเทศสมาชิกอาเซียนมีความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนควรจะต้องดำเนินการ ดังนี้
1) ประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องปรับปรุงคุณภาพต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากพอที่จะสามารถเข้าสู่สนามแข่งขันและพร้อมก้าวเดินไปกับเกาหลีใต้ได้
2) ประเทศสมาชิกอาเซียนควรแบ่งปันข้อมูลที่มีประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมกับเกาหลีใต้เพื่อใช้ข้อมูลเหล่านั้นวิเคราะห์และพิจารณารูปแบบการช่วยเหลือในด้านขีดความสามารถและการระดมทุน การลงทุน และการวิจัยและพัฒนาในด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ ในขณะเดียวกันเกาหลีใต้ควรแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและวิธีการบริหารจัดการทางด้านวัฒนธรรมให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
3) เกาหลีใต้และประเทศสมาชิกอาเซียนควรที่จะออกมาตรการหรือนโยบายที่สอดคล้องกันทางด้านสังคมและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เพื่อทำให้ช่องว่างในด้านต่าง ๆ ลดลงและมีโอกาสเพิ่มขึ้น
และ
4) เกาหลีใต้และประเทศสมาชิกอาเซียนควรให้ความสำคัญกับเรื่องการแลกเปลี่ยนนักศึกษา การสร้างเครือข่ายและการวิจัยเชิงลึกระหว่างกันมากขึ้นเพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง และที่สำคัญที่สุดเกาหลีใต้และประเทศสมาชิกอาเซียนควรที่จะเน้นภารกิจด้านความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันให้มากที่สุดเพื่อความยั่งยืน
กองยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ #2024KACPE #OPDCxKRI #GlobalPartnership