🌳วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.00 น. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานของรัฐในการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทยต่อการบังคับใช้กฎหมาย EUDR ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคม 2568 ณ ห้องประชุม ก.พ.ร. ชั้น 5 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยมี นางสาววิริยา เนตรน้อย รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
📌สาระสำคัญของการประชุม
1️⃣ กฎหมาย EUDR กำหนดให้สินค้า 7 กลุ่ม ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน วัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าดังกล่าว ที่นำเข้าสหภาพยุโรปต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าหรือการทำให้ป่าเสื่อมโทรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน และต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้
2️⃣ การเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทยต่อการบังคับใช้กฎหมาย EUDR มีประเด็นสำคัญที่ภาคเอกชนต้องการการสนับสนุนเร่งด่วนจากหน่วยงานภาครัฐ ดังนี้
(1) การจัดทำแผนที่ระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของแปลงเกษตร (Geolocation Map) ที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลการจดทะเบียนเกษตรกร
(2) การพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability system) สำหรับสินค้าเกษตรที่อยู่ภายใต้มาตรการ EUDR
โดยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐได้แลกเปลี่ยนข้อมูลผลการดำเนินงานที่ผ่านมา (As Is) และแนวทางการดำเนินงานในอนาคต (To be) ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญดังกล่าว
3️⃣เพื่อให้การดำเนินการข้างต้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ประชุมเห็นว่าควรดำเนินการ ดังนี้
(1) การทดลองใช้แพลตฟอร์ม Geolocation Map ที่พัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เชื่อมโยงกับข้อมูลแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติและ ฐานข้อมูลการจดทะเบียนเกษตรกร เพื่อรับรองว่าพื้นที่แปลงปลูกไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าและถูกต้องตามกฎหมายของไทยตามที่ EUDR กำหนด
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดพื้นที่นำร่อง (Sandbox) ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี และกลุ่มสินค้าเป้าหมายคือ ปาล์มน้ำมันและยางพารา
(2) การเจรจากับสหภาพยุโรปเพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับของไทยให้เป็นที่ยอมรับระดับสากลและสอดคล้องกับ EUDR
4️⃣แนวทางการดำเนินงานระยะต่อไป
(1) สำนักงาน ก.พ.ร. จะหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อออกแบบแนวทางบูรณาการการทำงานในการทดลองนำร่องจัดทำ Geolocation Map ภายใต้กระบวนการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ (Government Innovation Lab: Gov Lab)
(2) สำนักงาน ก.พ.ร. จะหารือร่วมกับ ส.อ.ท. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและโอกาสในการพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และจะประสานข้อมูลดังกล่าวให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการระดับชาติเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบภายใต้ EUDR เพื่อกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพและแนวทางปฏิบัติต่อไป
#เตรียมความพร้อมEUDR #สินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า #ความร่วมมือภาครัฐเอกชน #GovLab #Geolocation Map